ยางรถยนต์ในปัจจุบันใช้ลมเป็นตัวช่วยในเรื่องการซึมซับแรงสั่นสะเทือนและช่วยให้ยางคงรูปเพื่อให้การหมุนของล้อเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ แน่นอนว่าแม้ยางยุคใหม่จะถูกออกแบบอย่างทันสมัยและมีส่วนช่วยให้แรงดันลมภายในยางลดลงได้ช้า แต่ถือเป็นหน้าที่หลักของคนใช้รถที่ควรจะหมั่นตรวจสอบระดับแรงดันลมยางให้ถูกต้อง
เพราะตามปกติแล้ว จากการที่ยางรถยนต์มีเนื้อยางที่มีรูพรุนขนาดเล็กมากและขอบยางเป็นแบบไม่มียางในที่อัดอยู่กับขอบของกระทะล้อ แม้ตรวจสอบด้วยวิธีอย่างการแช่น้ำหรือใช้น้ำฟองสบู่ถูกตามขอบล้อหรือจุ๊บลม แต่โดยรรมชาติแล้ว แรงดันของลมที่อยู่ในยางซึ่งสูงกว่าสภาพบรรยากาศหลายเท่าย่อมมีการซึมออกมาอย่างช้าๆ โดยเฉลี่ยแล้วจะลดลงประมาณ 1 ปอนด์/ตารางนิ้วต่อสัปดาห์ ซึ่งนั่นก็คือเหตุผลที่ว่าทำไมยางไม่รั่ว แต่ระดับแรงดันลมยางถึงลดลง
ความถูกต้องและเหมาะสมของระดับแรงดันลมยางจะส่งผลต่ออัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง คนที่อยากทราบตัวเลขที่ถูกต้องจากผู้ผลิตก็สามารถดูจากแผ่นสติกเกอร์ก็ได้ ซึ่งรถยนต์ของฮอนด้าจะที่ติดตั้งอยู่บริเวณขอบตัวถังตรงประตูฝั่งคนขับ โดยแผ่นสติกเกอร์นี้จะบอกตัวเลขอย่างชัดเจนสำหรับรถยนต์รุ่นนั้นๆ ทั้งล้อหน้าและหลัง หรือในกรณีที่มีการเปลี่ยนล้อหรือยางให้แตกต่างจากขนาดปกติ ก็ควรสอบถามจากผู้ผลิตยางถึงระดับแรงดันที่เหมาะสมในการใช้งาน
ในกรณียางอ่อน หรือมีแรงดันลมยางน้อยนเกินไป นอกจากจะทำให้กินน้ำมันมากขึ้นประมาณ 1-10% เพราะลมยางที่อ่อนทำให้ยางมีแรงต้านการหมุนมากขึ้น เครื่องยนต์ต้องออกแรงมากขึ้นแล้ว แก้มยางและโครงยางที่มีการยุบตัวยืดตัวมากเกินไป ทำให้อายุการใช้งานสั้นลง 1-50% โดยมีของแถมเป็นดอกยางที่สึกผิดปกติ
นอกจากนี้ลมยางอ่อนยังทำให้การบังคับรถทำได้ยาก ระยะเบรกยาวขึ้น 1-20% และยังทำให้แก้มยางบิดตัวมากเกินไป จนทำให้เกิดความร้อนสะสมมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องขับในทริปที่มีระยะทางไกลๆ ส่งผลต่อความเสี่ยงต่อการระเบิดยาง ส่วนในกรณีเติมยางแข็งเกินไป แม้จะรู้สึกว่าสมรรถนะของรถดีขึ้น เพราะล้อมีการหมุนได้ง่ายขึ้น แต่ก็ต้องแลกมาด้วยอัตราการยึดเกาะที่ลดลง เพราะหน้ายางสัมผัสถนนได้ไม่
การตรวจสอบควรทำเป็นประจำทุกสัปดาห์ หรือ 2 สัปดาห์ การอาศัยเพียงแค่สายตามองไม่สามารถบอกได้ถึงความแตกต่างระหว่างยางปกติกับยางที่มีแรงดันลมยางต่ำกว่าปกติ ประมาณ 10 ปอนด์ต่อตารางนิ้วซึ่งผู้ขับขี่ควรซื้อที่วัดแรงดันลมยางที่มีมาตรฐานติดรถไว้สักอัน ดีกว่าการใช้ของสาธารณะร่วมกับรถยนต์คันอื่นๆ ตามสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งอาจจะมีความเพี้ยนของมาตรวัดเกิดขึ้นได้ เพราะถูกใช้งานหลายต่อหลายครั้ง
การตรวจวัดระดับแรงดันลมยาง ควรทำในช่วงที่รถยนต์ยังไม่ถูกใช้งาน เช่น ก่อนออกเดินทางไปทำงานในช่วงเช้า เพื่อให้ได้ค่าที่แม่นยำ เพราะเมื่อรถยนต์แล่นมาได้สักระยะแล้ว จะเกิดความร้อนสะสมภายในยาง และทำให้ระดับแรงดันสูงเกินกว่าค่าที่เป็นจริง