อุตรดิตถ์เนื้อหอมเกินต้าน ช่วงนี้กระแสทุเรียนเต็มหน้าฟีดสื่อออนไลน์ แต่นัมเบอร์วันทุเรียนอร่อย ต้องยกให้ทุเรียนอุตรดิตถ์ โดยเฉพาะทุเรียนสายพันธุ์หลง-หลินลับแล (GI ของ จ.อุตรดิตถ์) หรือที่ได้ฉายาว่า “ทุเรียนเทวดาเลี้ยง” ปลอดสารพิษ เพราะปลูกบนภูเขาสูง ผลผลิตจะออกในช่วงประมาณเดือน พฤษภาคม-กรกฎาคม สนนราคาต่อกิโลกรัมเริ่มต้น 300 บาท
สาเหตุที่ราคาสูงก็เพราะผลผลิตมีไม่มากและรสชาติมีเอกลักษณ์ ความอร่อยที่ทานคำแรกก็รู้โดยทันทีว่าไม่เหมือนพื้นที่อื่น ทุเรียนของจังหวัดอุตรดิตถ์ มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ทุเรียนหมอนทอง 74.41% ทุเรียนหลงลับแล 11.87% ทุเรียนหลินลับแล 2.02% ทุเรียนพื้นเมือง 11.70% โดยมีพื้นที่ปลูกทุเรียนกว่า 47,000 ไร่ ครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอลับแล อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และอำเภอท่าปลา มีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนกว่า 7 พันราย มูลค่าผลผลิตและส่งออกทุเรียน ปี 2566 กว่า 4,900 ล้านบาท
นายอนันต์ สีแดง ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงาน แพร่ (รักษาการหัวหน้าศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดอุตรดิตถ์) กล่าวว่า กว่า 95% ของ พื้นที่เพาะปลูกทุเรียนเป็นภูเขาสูง และที่ลาดชัน ซึ่งอยู่ทางด้านเหนือและทางด้านตะวันออกของจังหวัดอุตรดิตถ์ สภาพภูมิประเทศเป็นป่าสลับซับซ้อน ดินมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย (สีส้มอิฐ) หรือที่เรียกว่าดินแดงผาผุ ซึ่งเมื่อถึงฤดูฝนจะมีน้ำไหลบ่าลงจากยอดเขา สู่พื้นที่ราบที่มี
ความลาดชัน นำพาเอาแร่ธาตุอาหารมาเติมให้กับพื้นที่การเกษตร และมีสภาพอากาศเหมาะสมต่อ การเจริญเติบโตของทุเรียน มีบรรยากาศเย็นในยามพลบค่ำ มืดเร็ว เพราะมีภูเขาสูง (หรือที่เรียกว่าดอย) เป็นฉากกั้นแสงอาทิตย์ จากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเช่นนี้ ทำให้ทุเรียนอุตรดิตถ์มีรสชาติและกลิ่นที่เป็นลักษณะเฉพาะ เป็นอัตลักษณ์ คือมีรสชาติหวานมันกำลังดี กลิ่นไม่แรง ประกอบกับไม่มีฝนตกมากในช่วงปลายเดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงระยะที่ทุเรียนเริ่มแก่ จึงส่งผลให้เนื้อทุเรียนของจังหวัดอุตรดิตถ์ มีความพิเศษกว่าทุเรียนจากแหล่งอื่น คือมีเนื้อแห้ง เนื้อทุเรียน สีเหลืองเข้ม ซึ่งความพิเศษเหล่านี้เมื่อรวมกันเกิดเป็นความอร่อยที่ลงตัว โดยเฉพาะสายพันธุ์ “หลงลับแล” ผลทรงกลม มีกลิ่นอ่อน เนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อละเอียดเหนียว ไม่เละ รสชาติหวานมัน หอมอ่อนๆ และสายพันธุ์ “หลินลับแล” ผลทรงกระบอก คล้ายผลมะเฟือง เนื้อจะมีสีเหลืองเข้ม เนื้อแห้ง ไม่เละ รสหวานมันครีมมี่ กลิ่นหอมไม่แรง และที่สำคัญเมล็ดลีบ
อุตรดิตถ์ เป็นเมืองมหัศจรรย์ผลไม้และเสน่ห์แห่งธรรมชาติ มีความหลากหลายของผลไม้ตามฤดูกาลหาทานได้ตลอดปี ด้วยลักษณะทางภายภาพของ จ.อุตรดิตถ์ พื้นที่ปลูกผลไม้ส่วนใหญ่อยู่บนที่สูง เป็นป่าภูเขา มีแร่ธาตุและภูมิอากาศที่ส่งผลต่อคุณภาพและรสชาติของผลไม้เฉพาะตัว จนได้รับกล่าวขานว่า เป็น “ผลไม้เทวดาเลี้ยง” ในช่วงไตรมาสที่ 3 เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม จังหวัดอุตรดิตถ์จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ด้วยนักท่องเที่ยวกลุ่มมีกำลังซื้อที่ชื่นชอบกินทุเรียนเป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งเป็นช่วงผลผลิตทุเรียนออกจำหน่ายสู่ท้องตลาด รวมถึง มีงาน Local Festival ที่น่าสนใจจ่อคิวจัดในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ งานนุ่งซิ่นกินทุเรียน งานเทศกาลทุเรียน หลง-หลิน ลับแล และงานทุเรียน Festival ททท.ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวเตรียมตัวให้พร้อม ปักหมุดวางแผนเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดอุตรดิตถ์ รีบวางแผนจองที่พักล่วงหน้า เพราะนอกจากมากินทุเรียนแล้ว จังหวัดอุตรดิตถ์ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย สายมูต้องมาสักการะขอพรหลวงพ่อเพชร วัดท่าถนน ต่อด้วย ขอพลังบารมีจากพระยาพิชัยดาบหับ และแวะตกแร่เหล็ก น้ำพี้ บูชาเป็นเครื่องรางติดตัว ท่านใดชอบเที่ยวสายธรรมชาติ อุตรดิตถ์มี 3 อช.แห่งชาติ ทั้ง อช.ภูสอยดาว อช.ต้นสักใหญ่ และ อช.ลำน้ำน่าน ไว้รอท้าทาย ส่วนใครที่สายจิบกาแฟ จังหวัดอุตรดิตถ์มีคาเฟ๋เก๋ๆ ร่มรื่นในสวนไว้บริการ ท่านใดสายแฟชั่นชอบนุ่งผ้าไทย ผ้าซิ่นลับแล ผ้าซิ่นน้ำอ่าง ผ้าซิ่นน้ำปาดฟากท่า สวยไม่เป็นรองใคร คาดหวังปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวจังหวัดอุตรดิตถ์ เกินเป้า 1.5 ล้านคน และรายได้ทะลุ 3.5 พันล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย IGNITE RHAILAND ที่ประกาศตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว (Tourism Hub)
–ททท.ขอชี้เป้าแนะนำสวนทุเรียน และคาเฟ่ที่มีเมนูทุเรียนพร้อมเสิร์ฟในจังหวัดอุตรดิตถ์ (มีไฟล์แนบ)
1.สวนป้าเรียน 2.สวนบ้านบนดอย
3.สวน หลงสวน ณ ลับแล 4.สวนพลอย พนา ลับแล
5.สวนใจใหญ่ 6.สวนบ้านหลินลับแล
7.สวนทุเรียนธันวา 8.สวนตะวันฉาย
9.ม่อนลับแล 10.แลบัวอุตรดิตถ์
11.เฮือนลับแล 12.บ้านสวนภูฟ้า ณ ลับแล
13.ร้าน ME STORY
สามารถสอบถามข้อมูลการท่องเที่ยว จ.อุตรดิตถ์ เพิ่มเติมได้ที่ …
ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดอุตรดิตถ์ ณ อาคารราชภัฎอุตรดิตถ์พลาซ่า (ชั้น1) ถนนอินใจมี ตำบลท่าอิฐ
อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ Tel.055 479824,065 5254962
FB : ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดอุตรดิตถ์