Mitsubishi Electric ผู้ผลิตชั้นนำในระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติแบบครบวงจร ยกระดับโมเดลไลน์ e-F@ctory ร่วมมือกับพันธมิตร ทรู คอร์ปอเรชั่น และเลิศวิลัย นำเทคโนโลยี 5G ที่แรงและเร็วกว่าในการเชื่อมต่อข้อมูลได้ทุกระดับ มาพลิกโฉมสายการผลิตอัจฉริยะ สร้างโซลูชั่นที่ดีที่สุด เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมไทย และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทยตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 อย่างยั่งยืน
นายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการบริหาร บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า “Mitsubishi Electric ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ ระบบ Automation ครบวงจรที่ช่วยลดหรือประหยัดการใช้พลังงาน โดยเราได้นำความรู้ทั้งหมดมาเชื่อมต่อกันเพื่อใช้บริหารจัดการโรงงาน และมีการนำระบบ e-F@ctory ซึ่งเป็นการผนวก Factory Automation กับ IT มาใช้กับลูกค้าเพื่อนบ้านในประเทศญี่ปุ่นมากว่า 10 ปี จนปัจจุบันเรามีพันธมิตรที่ทำโซลูชั่นประมาณ 900 กว่าบริษัท และเราได้ทำโซลูชั่นหรือ e-F@ctory นี้ให้กับโรงงานทั่วโลกกว่า 10,000 โรงงาน สำหรับในประเทศไทย อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) เป็นโครงการเชิงยุทธศาสตร์ที่เน้นความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการผลิต การสร้าง Smart Factory (โรงงานอัจฉริยะ) ที่ใช้ระบบอัตโนมัติ หรือ Robot จำเป็นต้องใช้ข้อมูลหน้างานในแบบเรียลไทม์ และการเชื่อมต่อกับระบบ IT อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นในโครงการ e-F@ctory Mitsubishi Electric จึงได้ร่วมมือกับทรู คอร์ปอเรชั่น ด้วยการนำเทคโนโลยี 5G ที่เร็วและมีเสถียรภาพมาใช้ในการพลิกโฉมสายการผลิตอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนการผลิต การปรับปรุงคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิต ควบคุมค่าใช้จ่าย และความปลอดภัยของข้อมูล นอกจากนี้ Mitsubishi Electric ยังได้จัดทำหลักสูตรด้าน Automation & Robotic เพื่อฝึกอบรมบุคลากรไทยให้มีความเชี่ยวชาญ มุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรและพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปพร้อม ๆ กัน”
นายพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “ทรูเป็นผู้นำ 5G ในประเทศไทย และมุ่งเน้นสร้าง Eco System มาโดยตลอด จึงนับเป็นโอกาสดีที่เราได้พาร์ทเนอร์ที่แข็งแกร่งมาก ๆ อย่าง Mitsubishi Electric บริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น มาร่วมกันพัฒนาโซลูชั่น e-F@ctory บนแพลตฟอร์มที่จะโชว์ศักยภาพของเทคโนโลยี 5G ทำให้เกิดสายการผลิตที่ไม่มีมนุษย์ 100% ให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งเทคโนโลยี 5G จะช่วยตอบโจทย์ทั้งในเรื่องสปีดความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ และการเชื่อมต่อ IoT ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะไลน์การผลิตต้องมีการส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ (Real-time) จากตัวเซ็นเซอร์ (Sensor) ต่างๆ เพื่อนำไปประมวลผลและนำกลับมาบริหารจัดการไลน์การผลิต จึงนับเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ ที่พัฒนาประเทศไทยไปสู่ภาคอุตสาหกรรมที่เป็น Automation เต็มรูปแบบ และยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยใช้เทคโนโลยี 5G เป็นตัวช่วยขับเคลื่อน”
นอกจากนี้ ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ กรรมการบริหาร บริษัท เลิศวิลัยแอนด์ซันส์ จำกัด หนึ่งในพันธมิตรของ Mitsubishi Electric ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Automation และ Industrial Robot ยังได้กล่าวเสริมว่า “เราเป็นผู้ผลิตที่มีนวัตกรรมของคนไทย ที่เราเรียกว่า AMR (Autonomous Mobile Robot) หุ่นยนต์ที่วิ่งอยู่ในโรงงาน ต้องขอบคุณทั้ง Mitsubishi Electric และ True5G ที่ให้ทั้งข้อมูล และให้อุปกรณ์ Network SA (Stand Alone) ซึ่งมีขนาดเล็กพอที่เราจะใส่ไปใน AMR ได้อย่างลงตัวและมีประสิทธิภาพสูงสุด ถ้า 5G พร้อม AMR พร้อม เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งให้เมืองไทยเป็น Smart Factory หรือ Intelligence Factory ได้อย่างแน่นอน”
การติดตั้งระบบ FA (Factory Automation) ในสถานประกอบการหรือโรงงานผลิตในยุคอุตสาหกรรม 4.0 นี้นับเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องลงมือทำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในปี ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และมหาวิทยาลัยบูรพา จัดตั้งโครงการความร่วมมือพัฒนากำลังคนและถ่ายทอดเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ผ่านเครือข่าย “EEC Automation Park” ศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาบุคลากรด้านหุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่น ซึ่งตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี นำความเชี่ยวชาญและความพร้อมด้าน Factory Automation ติดตั้งโมเดลไลน์ e-F@ctory พร้อมจัดอบรมส่งมอบความรู้สู่ภาคแรงงาน โดยเป็นโรงงานอัจฉริยะที่มีเทคโนโลยีอุตสาหกรรมขั้นสูง สามารถปฏิบัติงานได้จริงทั้งกระบวนการ ซึ่งเป็นชุดจำลองแต่สามารถใช้งานได้จริง เพื่อให้ผู้มาอบรมได้เห็นกระบวนการทำงานของระบบอัตโนมัติ หรือออโตเมชั่นในภาพรวมทั้งกระบวนการ มีห้องปฏิบัติการ และชุดฝึก เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้ทดลองปฏิบัติจริงด้วย เสมือนเป็นการจำลองโรงงานมาไว้ในห้องเรียน โดย e-F@ctory แบ่งระดับโครงสร้างหลักออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ไลน์การผลิต (Shop floor) เพิ่มกำลังการผลิตและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการโดยรวม ด้วย iQ platform ที่ผสานการทำงานของเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบอัตโนมัติเข้าด้วยกัน, Edge computing การเชื่อมต่อเครื่องจักรในระบบอัตโนมัติและระบบสารสนเทศ และระบบ IT ซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้สนับสนุนหน้าที่งานด้านการผลิตและการดำเนินงาน ซึ่งการสนับสนุนจากพันธมิตร True 5G จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยรวม ด้วยเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายอัจฉริยะที่จะเชื่อมต่ออุปกรณ์ทั้งหมดด้วย IoT (Internet of Things) ทำให้การเชื่อมต่อข้อมูลได้ทุกระดับ ตอบสนองได้แบบเรียลไทม์ เสถียรต่อเนื่อง และควบคุมความปลอดภัยของข้อมูล
โซลูชั่น eF@ctory สามารถช่วยปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างมาก โดยการผสานในแนวนอนระหว่างกระบวนการผลิต และการผสานในแนวตั้งจากกระบวนการผลิตจนถึงชั้นผู้บริหาร โดย Mitsubishi Electric ได้แบ่งระดับโครงสร้างของ e-F@ctory เป็น 3 ส่วน ดังนี้
1.ไลน์การผลิต (Shop floor)
- iQ platform: Shop floor optimizing solution เพิ่มกำลังการผลิตและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการโดยรวมด้วย iQ platform ที่ผสานการทำงานของเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบอัตโนมัติเข้าด้วยกัน และเชื่อมต่ออุปกรณ์ทั้งหมดในไลน์การผลิตด้วยเครือข่าย CC-Link IE ที่รองรับอุปกรณ์หลากหลายแบรนด์และมีความเร็วสูงถึง 1Gbps ที่ทำให้สามารถดูข้อมูลได้แบบ Real-time
- Energy Saving Solution โมดูล Power measuring ที่สามารถวัดปริมาณการใช้พลังงานได้อย่างแม่นยำแบบ Real-time และสามารถติดตั้งโมดูลลงบน PLC ได้โดยตรง จึงประหยัดพื้นที่ ลดการเดินสายและประหยัดค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชันที่สามารถระบุอุปกรณ์และระยะเวลาที่มีการใช้พลังงานสูง ทำให้สามารถวางแผนปรับปรุงระบบการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- 2.Edge computing (การผสานระหว่าง FA-IT)
เทคโนโลยี Edge Computing ที่ใช้ในการเชื่อมต่อเครื่องจักรในระบบอัตโนมัติ และระบบสารสนเทศ ทำให้การรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูลกลายเป็นเรื่องง่ายด้วยโมดูล MES Interface ที่สามารถส่งผ่านข้อมูลการผลิตไปสู่ระบบ Manufacturing Execution System (MES) ได้โดยตรงแบบ Real-time โดยไม่ต้องใช้โปรแกรมเพิ่มเติมหรือคอมพิวเตอร์เกตเวย์ และยังมีฟังก์ชันที่ช่วยให้สามารถส่งข้อมูลได้แม้ขาดการเชื่อมต่อระหว่างเซิร์ฟเวอร์ฐานข้อมูลและระบบควบคุม หรือโมดูล High speed data logger ที่สามารถรวบรวมข้อมูลการผลิตจากอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้โดยตรงด้วยความเร็วสูง โดยที่ไม่ต้องการอุปกรณ์ใดๆเพิ่มเติม ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่ม reliability ของระบบ
3.ระบบ IT
ซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้สนับสนุนหน้าที่งานด้านการผลิตและการดำเนินงาน รวมถึงกิจกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับการวางแผน การควบคุมกระบวนการผลิต และการจัดระบบการผลิตของธุรกิจ
- SCADA system (MC Works 64)
ซอฟต์แวร์ที่ทำให้สามารถควบคุมการผลิต และตรวจสอบสถานะจากระยะไกลได้ จึงสามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ ทุกเวลา นอกจากนี้ระบบยังมีความยืดหยุ่นสูง จึงเหมาะสมกับอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ตั้งแต่ อุตสาหกรรมการผลิตไปจนถึงการทำระบบ Building Automation