อยากขับรถยกสูง จะต้องแจ้งขออนุญาตขนส่งฯ ยังไงดี

ในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 14 ระบุไว้ว่า รถใดที่จดทะเบียนแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดเปลี่ยนแปลงตัวรถ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้ ในกรณีรถยกสูง ต้องวัดจากกึ่งกลางไฟหน้ากับระดับพื้นถนนไม่สูงกว่า 135 เซนติเมตร ถ้าสูงเกินแล้วไม่แจ้งมีโทษปรับ 2,000 บาท

ดังนั้นการแก้ไขดัดแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้ โดยเฉพาะกรณีการแก้ไขดัดแปลงระบบช่วงล่าง ทั้งระบบรองรับน้ำหนัก การเสริมแหนบ ระบบกันสะเทือน ระบบบังคับเลี้ยว หรือระบบขับเคลื่อน ต้องนำรถเข้าตรวจสภาพกับกรมการขนส่งทางบก และแก้ไขรายละเอียดลักษณะรถในใบคู่มือจดทะเบียนรถก่อนนำไปใช้งาน เพื่อความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยในการใช้งาน โดยแสดงหลักฐาน ได้แก่ การได้มาของอุปกรณ์ที่นำมาดัดแปลงรถหรือบันทึกถ้อยคำรับรองว่าอุปกรณ์ดังกล่าวได้มาโดยถูกต้องและสุจริต เช่น ใบเสร็จค่าชิ้นส่วน อุปกรณ์ ค่าแรง และหนังสือรับรองความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยในการใช้รถจากวิศวกรสาขาเครื่องกลหรือยานยนต์ หลักฐานประจำตัวเจ้าของรถ และใบคู่มือจดทะเบียนรถหรือสำเนา ในกรณีที่นายทะเบียนพิจารณาแล้วว่ารถนั้นปลอดภัยในเวลาใช้งาน จะบันทึกรายการในใบคู่มือจดทะเบียนรถไว้เป็นหลักฐาน ส่วนกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่ารถที่แก้ไขดัดแปลงอุปกรณ์ส่วนควบดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายในการใช้งาน ให้เจ้าของรถดำเนินการแก้ไขก่อนนำรถเข้าตรวจสภาพ

ทั้งนี้ หากตรวจสอบพบการแก้ไขดัดแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้ โดยไม่มีการนำรถไปให้นายทะเบียนตรวจสภาพและแก้ไขรายละเอียดลักษณะรถในใบคู่มือจดทะเบียนรถ เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 14 ต้องระวางโทษตามมาตรา 60 ปรับไม่เกิน 2,000 บาท 

ส่วนกรณีเป็นรถที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงสภาพเครื่องอุปกรณ์หรือส่วนควบของรถให้ผิดแผกแตกต่างในสาระสำคัญตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนก่อนดำเนินการ หากฝ่าฝืนมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 ต้องระวางโทษตามมาตรา 149 ปรับไม่เกิน 5,000 บาท

 

ขั้นตอนในการแจ้งการขออนุญาตใช้รถที่ทำการดัดแปลง

  1. นำรถยนต์ไปให้ทางวิศวกรเครื่องกลทำการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย เพื่อนำไปประกอบเอกสารการยื่นแจ้งขออนุญาตฯ (เอกสารวิศวกร รูปถ่ายวิศวกรคู่กับรถ)
  2. เอกสารที่ต้องนำไปยังกรมการขนส่งทางบกได้แก่

– เล่มทะเบียนรถตัวจริง

– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเจ้าของรถ

– สำเนาทะเบียนบ้าน

– ถ้าเจ้าของไม่ไปดำเนินการเองต้องมีหนังสือมอบอำนาจ ติดอากรแสตมป์ 30 บ. , สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านผู้รับมอบอำนาจ

– สำเนาทะเบียนรถยนต์

– เอกสารค่าใช้จ่ายการดัดแปลง เช่นบิลค่ายกสูง ไม่ต้องใส่ราคาสูงยิ่งสูงยิ่งเสียค่าอากรแสตมป์มาก

 

 

 

Tagged:

admin24

admin24

RELATED ARTICLES