นายมิโนรุ อามาโนะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ทวีความรุนแรงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถรองรับดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง จึงทำให้ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดต้องการกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา ที่มีญาติหรือโรงพยาบาลที่พร้อมจะดูแลและให้การรักษา เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระให้กับโรงพยาบาลในที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวส่งให้มีปริมาณผู้ป่วยต้องการกลับไปต่างจังหวัดมีค่อนข้างสูง แต่รถที่ให้บริการขนส่งผู้ป่วยหรือรถพยาบาล ไม่สามารถรองรับและให้บริการได้อย่างเพียงพอในปัจจุบัน
ซูซูกิเล็งเห็นถึงความต้องการและความสำคัญ จึงเกิดแนวคิดให้มีการพัฒนารถ SUZUKI CARRY รถบรรทุกอเนกประสงค์ขนาดย่อมมาปรับเปลี่ยนเป็นรถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเพื่อพาผู้ป่วยโควิด-19 กลับบ้าน โครงการ SUZUKI Carry to Your Home จึงได้เกิดขึ้น โดยซูซูกิร่วมกับพันธมิตรทุกภาคส่วนในการออกแบบและพัฒนา SUZUKI CARRY ให้เป็นรถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ติดตั้งระบบความดันลบ ที่จะอำนวยความสะดวกและมอบความปลอดภัยให้แก่ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยในการเดินทางกลับไปรักษาตัวยังภูมิลำเนาในต่างจังหวัด
นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด กล่าวถึงการพัฒนาในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงดีเอ็นเอแห่งความเป็นกระบะบรรทุกอเนกประสงค์ ที่สามารถปรับไปใช้งานได้ในทุกสถานการณ์ แม้ยามต้องเผชิญวิกฤตต่างๆ และไม่ได้มีเพียงภาพจำในฐานะ“ฟู้ดทรัค” ธุรกิจติดล้อที่ใช้การตลาดเชิงรุกในการวิ่งเข้าหาผู้บริโภค จนกลายเป็นขวัญใจผู้ประกอบการยุคใหม่เท่านั้น ที่ผ่านมาทางซูซูกิได้ร่วมมือกับทางพันธมิตรทุกภาคส่วน ในการจัดทำรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย” (Carry Biosafety) หรือ “รถตรวจโควิด” แบบ SWAB 1 ทาง และ 3 ทาง เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนต่างๆ
จนมาถึงการต่อยอดอีกครั้งด้วยโครงการ SUZUKI Carry to Your Home เป็นอีกหนึ่งผลงานแห่งความภูมิใจ ที่เกิดจากความร่วมมือของหมอแล็บแพนด้า (ทนพ. ภาคภูมิ เดชหัสดิน) ศูนย์นวัตกรรม KMITL FIGHT FOR COVID-19 และศูนย์วิจัยและออกแบบงานสร้างสรรค์ (Research and Creative Design Center: RCDC) คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการพัฒนารถส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนาได้อย่างสะดวก และปลอดภัยตลอดการเดินทาง
โดยออกแบบพื้นที่กระบะบรรทุกของ SUZUKI CARRY ขนาดกว้าง 1,670 มิลลิเมตร ยาว 2,450 มิลลิเมตร และรับน้ำหนักได้ 945 กิโลกรัม ให้เป็นห้องปฐมพยาบาลขนาดย่อม สามารถพาผู้ป่วยได้ 4-6 คนต่อเที่ยว ภายในประกอบด้วยอุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ ติดตั้งระบบ HEPA Filter มาตรวัดแรงดันลม ถังออกซิเจน 1.5Q ไปป์ไลน์ เตียงผู้ป่วยแบบปรับนั่งได้ และเบาะนั่ง 3 ที่นั่ง ติดตั้งระบบอินเตอร์คอมสำหรับสื่อสารระหว่างคนขับและคนนั่งด้านหลัง และระบบกระแสไฟฟ้าสำหรับสำรองไฟและการใช้งานตลอดการเดินทาง ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่อาจแพร่สู่บุคคลอื่นในระหว่างเดินทาง และคนขับที่ต้องพาผู้ป่วยไปส่งที่ภูมิลำเนาก็ปลอดภัยด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ได้มีการส่งมอบรถอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์พักคอย เขตคันนายาว โดยมีนายสุรเชษฐ ไชยอุปละ รองคณบดีฝ่ายกลยุทธ์สื่อสารองค์กรและสารสนเทศ ในฐานะตัวแทนสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมีตัวแทนจาก บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยนางสาวสุชญา บานเย็น หัวหน้าส่วนการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมถึง ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน (หมอแล็บแพนด้า) เข้าร่วมในพิธีส่งมอบ
นายวัลลภ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวคิด “Carry Your Dream เคียงข้างทุกเส้นทางฝัน” ยังคงเป็นดีเอ็นเอที่ชัดเจนของ SUZUKI CARRY เพราะไม่ว่าความฝันของคุณจะเป็นอย่างไร หรืออยู่ท่ามกลางวิกฤตการณ์แบบไหน SUZUKI CARRY ก็พร้อมจะเป็นยานพาหนะที่อยู่เคียงข้างร่วมฝ่าวิกฤตในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นรถที่ใช้ประกอบอาชีพในรูปแบบของฟู้ดทรัค รถซูซูกิปันสุขที่แบ่งปันรอยยิ้มสู่สังคม ตลอดจนถึงเป็นรถต้นแบบ “รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย” (SUZUKI CARRY Biosafety Mobile Unit) หรือ “รถตรวจโควิด” ซึ่งมีหน่วยงานต่างๆ นำรถ SUZUKI CARRY ไปทำเป็นรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยจำนวนมากถึง 36 คัน เพื่อออกช่วยเหลือประชาชน และในครั้งนี้ SUZUKI Carry to Your Home ที่พร้อมช่วยเหลือคนในสังคมที่กำลังประสบปัญหา เป็นการตอกย้ำถึงรถ SUZUKI CARRY สามารถเปลี่ยนสถานะเป็นรถอเนกประสงค์ในรูปแบบอื่นๆ เพื่อตอบสนองสังคมไทยต่อไปอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับโครงการ “SUZUKI Cause We Care” ซึ่งสิ่งที่เรามุ่งมั่นและต้องการสื่อสารไปยังลูกค้าและพี่น้องชาวไทยทุกท่านว่าเราไม่ใช่แค่เพียงผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ แต่เราหวังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมพร้อมกับการพัฒนาธุรกิจควบคู่ไปกับการอยู่คู่เคียงข้างชุมชนและสังคมไทยอย่างยั่งยืนอีกด้วย