สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยคาดการณ์ตลาดยานยนต์ยังทรง พร้อมวอนรัฐออกมาตรการกระตุ้นต่อเนื่อง

สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (The Thai Automotive Industry Association : TAIA) ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย (The Thai Automotive Journalists Association : TAJA) จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสื่อมวลชน (TAIA Meets the Press) ในหัวข้อ “ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย” โดยมองแนวโน้มตลาดยานยนต์ปี   พ.ศ. 2568 มีแนวโน้มการเติบโตใกล้เคียงกับปีที่แล้ว โดยอาจจะดีขึ้นหากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เผยว่า “ในปี พ.ศ. 2568 คาดการณ์การผลิตรถยนต์ของไทยโดยรวมที่ 1.5 ล้านคัน เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 2.1% โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 5 แสนคัน และผลิตเพื่อส่งออก 1 ล้านคัน และสำหรับตัวเลขรถจักรยานยนต์ คาดการณ์ยอดผลิตที่ 2.1 ล้านคัน เติบโตจากปีที่ผ่านมาประมาณ 11.2%

ปัจจัยที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปี 2568 แบ่งเป็น 2 ด้าน

  1.  ปัจจัยสนับสนุน
  • การขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2568มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนด้านการเพิ่มขึ้นของการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะในโครงการสำคัญต่างๆ เช่น การก่อสร้างสาธารณูปโภค การก่อสร้างรถไฟสายต่างๆ โดยจะทำให้มีเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า  3 ล้านล้านบาท
  • การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ที่ใกล้เคียงระดับก่อนโควิด-19โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ในขณะที่ภาครัฐจัดกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
  1.  ปัจจัยเสี่ยง
  • สถานการณ์หนี้ครัวเรือนและหนี้เสียยังอยู่ในระดับน่ากังวล โดยหนี้ครัวเรือน ถึงแม้จะปรับตัวลดลงเหลือระดับ 89%ต่อ GDP แต่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อทั้งหมดมากถึง 22% ส่งผลให้อำนาจการซื้อของประชาชนลดลง
  • อัตราส่วนหนี้ค้างชำระไม่เกิน 3เดือนของสินเชื่อรถยนต์ยังอยู่ในระดับสูงมาก ส่งผลให้สถาบันการเงินยังคงนโยบายเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงในการกลายเป็นเป็นหนี้เสีย
  • นโยบายกีดกันการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐฯที่เน้นการลดการเสียเปรียบด้านการค้ากับประเทศคู่ค้า โดยการเพิ่มภาษีสินค้าที่นำเข้าไปในสหรัฐฯ ส่งผลให้สินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนได้รับผลกระทบ เช่น รถยนต์นั่ง ยางรถยนต์ อะไหล่และอุปกรณ์ยานยนต์ต่างๆ รวมถึงความเสี่ยงทางอ้อมที่อาจทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งระบายสินค้าจากประเทศที่ถูกกีดกันการค้าสูงกว่ามากขึ้น นำไปสู่การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงจากภาวะอุปทานเกินขนาด

นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้ ได้แก่

  • โครงสร้างภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้ารถยนต์ใหม่ ที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2569เป็นต้นไป โดยมีการกำหนดเกณฑ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ต่ำกว่าปัจจุบัน เพื่อให้ได้อัตราภาษีในอัตราต่ำลง รวมถึงสนับสนุนยานยนต์สมัยใหม่ เช่น PHEV กำหนดให้มีการติดตั้งระบบช่วยเหลือการขับขี่ ADAS และกำหนดเงื่อนไขการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ
  • การบังคับใช้มาตรฐานมลพิษจากรถยนต์ ระดับยูโร 6โดยรถยนต์เครื่องยนต์เบนซิน  เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ส่วนรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของภาครัฐ
  • ข้อตกลง FTA ในปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 17ฉบับ 24 ประเทศคู่ค้า และอยู่ระหว่างการเจรจาอีก 4 ฉบับ โดยมีฉบับสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต เช่น การเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป
  • มาตรฐานประสิทธิภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับรถยนต์ใหม่ (New Vehicle Efficiency Standard : NVES) ของประเทศออสเตรเลีย โดยจะมีการกำหนดเกณฑ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รถยนต์ที่นำเข้าไปยังประเทศออสเตรเลีย ทั้งรถยนต์นั่งและรถกระบะ ที่จะเริ่มบังคับใช้พร้อมบทลงโทษตั้งแต่วันที่ 1กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป

จากสถานการณ์ยอดขายรถยนต์ที่ซบเซาในปัจจุบัน สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้เสนอมาตรการต่อภาครัฐ ดังนี้

มาตรการกระตุ้นยอดขายในประเทศระยะสั้น

  • มาตรการด้านภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การนำค่าใช้จ่ายในการซื้อหรือค่าบำรุงรักษารถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ผลิตในประเทศมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  • มาตรการด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล การนำค่าใช้จ่ายในการซื้อ หรือเช่ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ผลิตในประเทศมาลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้ รวมถึงขยายเพดานค่าใช้จ่ายที่หักได้ให้เพิ่มมากขึ้น
  • มาตรการด้านสินเชื่อ การผ่อนปรนเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อสำหรับกู้ซื้อรถ โดยอนุญาตให้สามารถกู้ร่วมและพิจารณารายได้รวมของทั้งครอบครัวในการประเมินการปล่อยสินเชื่อได้ รวมถึงมาตรการค้ำประกันสินเชื่อในการซื้อรถยนต์
  • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้จ่ายงบประมาณประจำปีของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

มาตรการกระตุ้นยอดขายและส่งออกในระยะกลาง ยาว

  • รักษาการเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ ICE ที่สำคัญของโลก และส่งเสริมการผลิต Future ICE เพื่อรักษา Economy of Scale ให้สามารถแข่งขันได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ด้วยการเร่งเจรจา FTA กับกลุ่มประเทศที่ยังมีความต้องการรถยนต์สันดาปภายในอยู่ รวมถึงหามาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในกลุ่ม Future ICE เช่น Product Champion, HEV หรือ PHEV เป็นต้น
  • ยกระดับอุตสาหกรรมชิ้นส่วน เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ยานยนต์สมัยใหม่ผ่านกลไกการ Matching บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยกับต่างชาติ เพื่อเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ และต่อยอดสู่ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า (Power Electric Parts) รวมทั้งฝึกอบรมแรงงาน เพื่อเข้าสู่ยานยนต์สมัยใหม่เพื่อเพิ่มทักษะและองค์ความรู้ต่างๆ
  • ขยายการส่งออกยานยนต์ประเภท ZEV (Zero Emission Vehicle) ไปยังประเทศที่มีศักยภาพ พร้อมเร่งรัดการเจรจาข้อตกลง FTA โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อมีสิ่งแวดล้อม

โดยคาดหวังว่ามาตรการเหล่านี้ จะสามารถกระตุ้นตลาดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ปีนี้ และปีต่อๆไป ให้ฟื้นตัวไปสู่ระดับปกติ และดียิ่งขึ้นต่อไป”

 

Tagged:

admin24

admin24

RELATED ARTICLES