การควบคุมพวงมาลัยคือการควบคุมรถให้อยู่ในทิศทางที่เราต้องการจะไป แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีคนส่วนใหญ่ยังจับและควบคุมคุมการใช้งานพวงมาลัยไม่ถูกวิธีจนทำให้หลายครั้งเกิดอุบัติเหตุ ในครั้งนี้เรามาดูวิธีการใช้พวงมาลัยอย่างถูกต้องเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการขับรถกันดีกว่า
การจับพวงมาลัยที่ถูกวิธี
มือซ้ายจับที่ตำแหน่ง 9 หรือ 10 นาฬิกา มือขวาจับที่ตำแหน่ง 3 หรือ 2 นาฬิกา โดยตลอดการขับต้องใช้ทั้ง 2 มือ ยกเว้นเวลาเปลี่ยนเกียร์ การพักมือด้วยการจับพวงมาลัยที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา สามารถทำได้ในช่วงสั้นๆ เมื่อเห็นว่าสถานการณ์ข้างหน้าปลอดภัย ในการเลี้ยวมุมกว้าง ให้จับพวงมาลัยด้วยมือทั้ง 2 ข้าง จากนั้นจึงค่อยๆหมุนไปตามทิศทางที่ต้องการ และใช้มือทั้ง 2 ข้างประคองพวงมาลัยให้กลับมาอยู่ตำแหน่งเดิมโดยไม่ต้องออกแรงมากนัก เพราะปกติพวงมาลัยจะกลับมาสู่ตำแหน่งตรงเสมอ
ถ้าเป็นการเลี้ยวในมุมแคบ ไม่ควรหมุนพวงมาลัยจนแขนไขว้กัน, คลึงด้วยฝ่ามือ หรือหงายมือ วิธีที่ถูกต้องและปลอดภัย คือ การรับ-ส่งมือที่ตำแหน่ง 12 และ 6 นาฬิกา เช่น ถ้าต้องการเลี้ยวซ้าย ให้หมุนพวงมาลัยจนมือซ้ายอยู่ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา จากนั้นจึงย้ายมือขวาจากตำแหน่ง 12 นาฬิกา มารับพวงมาลัยต่อจากมือซ้าย และย้ายมือซ้ายไปจับที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา
พวงมาลัยปรับได้
ไม่ควรปรับพวงมาลัยขณะขับ หลังจากปรับเสร็จแล้วต้องล็อกให้แน่นหนา ส่วนใหญ่เป็นแบบปรับระดับสูง-ต่ำ ถ้าปรับไว้สูงเกินไป อาจเมื่อยล้าเมื่อขับเป็นเวลานาน ถ้าปรับไว้ต่ำเกินไป ส่วนล่างของพวงมาลัยอาจติดกับต้นขา การปรับระดับที่เหมาะสม คือ เมื่อจับพวงมาลัยในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้ว มือควรต่ำกว่าไหล่เล็กน้อย และไม่บังมาตรวัดหรือสัญญาณไฟบนแผงหน้าปัด ตรวจสอบซ้ำด้วยการจับแบบมือคว่ำ และยื่นให้ตึงไปพาดบนสุดของพวงมาลัย วงพวงมาลัยต้องอยู่บริเวณข้อมือหรือล้ำไปทางฝ่ามือเล็กน้อย
พวงมาลัยในรถยนต์ราคาแพงบางรุ่น สามารถปรับความใกล้-ไกลได้ เพื่อเพิ่มความสะวดกสบายให้ผู้ขับ การปรับระยะที่เหมาะสม คือ เมื่อจับพวงมาลัยในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้ว ข้อศอกควรงอเล็กน้อย
พวงมาลัยเพาเวอร์
เป็นอุปกรณ์เพิ่มความสะดวกในการขับ โดยช่วยผ่อนแรงหมุนของพวงมาลัยด้วยระบบไฮดรอลิก แต่แรงเสียดทานระหว่างหน้ายางกับผิวถนนยังมีตามปกติ การหมุนพวงมาลัยในขณะที่รถยนต์จอดนิ่ง หน้ายางและผิวถนนจะมีแรงเสียดทานหรือความฝืดสูงสุด แต่ผู้ขับจะไม่ทราบ เพราะระบบเพาเวอร์ได้ช่วยผ่อนแรงลงไป
ถ้าจำเป็นต้องหมุนพวงมาลัยในขณะจอดนิ่ง ควรขยับรถยนต์ให้เคลื่อนตัวช้าๆสักเล็กน้อย แล้วจึงหักเลี้ยว เพื่อลดความฝืดของหน้ายาง
การหมุนพวงมาลัยบังคับเลี้ยว ในขณะที่หน้ายางมีแรงเสียดทานสูง เช่น ขณะจอดนิ่ง ระบบช่วงล่างและระบบบังคับเลี้ยวจะเกิดการสึกหรอสูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการเลี้ยวในขณะที่รถยนต์เคลื่อนตัวไปบ้างแล้ว การหมุนพวงมาลัยจนสุด ระบบเพาเวอร์จะทำงานหนักที่สุด ทำให้อายุการใช้งานสั้นลง แต่ไม่พังในทันที ถ้ารู้ตัวว่าหมุนสุด ให้คืนพวงมาลัยเล็กน้อย แล้วจึงขับเลี้ยวต่อไป